ถาม-ตอบ กรณีธรรมกาย ตอน การปะทะกันของ "กลุ่มคนพุทธ"

การปะทะกันของ “กลุ่มพุทธติดกรอบ” กับ “กลุ่มพุทธกระแสหลัก”

        พระพุทธศาสนาเข้ามาสู่แดนสุวรรณภูมิตั้งแต่สมัยพระเจ้าอโศกมหาราช ซึ่งได้ส่งคณะสมณทูตนำโดยพระโสณะและพระอุตระมาเผยแผ่พระพุทธศาสนาเมื่อราว 2,300 ปีก่อน


        คณะสงฆ์เถรวาทในประเทศไทยเท่าที่มีการบันทึกไว้ในประวัติศาสตร์ตั้งแต่ยุคสุโขทัย  ได้แบ่งเป็นคณะสงฆ์ฝ่ายคามวาสี (พระบ้าน) และคณะสงฆ์ฝ่ายอรัญวาสี (พระป่า) มีแนวปฏิบัติที่หลากหลาย  อยู่กันอย่างค่อนข้างเป็นอิสระ ดูแลกันโดยระบบอุปัชฌาย์อาจารย์กับศิษย์ 

        ไม่มีระบบการศึกษาของส่วนกลาง ซึ่งพระภิกษุผู้บวชใหม่จะศึกษาพระธรรมวินัยจากอุปัชฌาย์อาจารย์ของตน ศึกษาหลักธรรมปฏิบัติกับครูบาอาจารย์ที่มีชื่อเสียงที่ตนเคารพนับถือ ไม่มีพระราชบัญญัติคณะสงฆ์  ไม่มีการปกครองตามลำดับชั้นเจ้าคณะตำบล อำเภอ จังหวัด ภาค หน ที่มีขึ้นในปัจจุบัน แต่มีการถือปฏิบัติตามพระธรรมวินัยดังที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า พระองค์ไม่ทรงแต่งตั้งภิกษุรูปใดเป็นศาสดาแทนพระองค์ แต่ให้คณะสงฆ์ยึดถือพระธรรมวินัยที่พระองค์ตรัสไว้ดีแล้วเป็นศาสดาแทนพระองค์

        คณะสงฆ์ทั่วประเทศมีพระไตรปิฎกเป็นจุดร่วม ให้ความสำคัญกับการจารจารึกพระไตรปิฎกลงในคัมภีร์ใบลาน เพื่อสืบทอดคำสอน อาจมีการตีความเพื่อนำมาประพฤติปฏิบัติที่หลากหลายตามความคิดความเชื่อหรือตามกำลังสติปัญญาของแต่ละคน แต่ทั้งหมดก็รวมกันเป็นคณะสงฆ์ไทยที่อยู่ร่วมกันด้วยความผาสุก ดำรงรักษาพระพุทธศาสนาและเป็นที่พึ่งทางใจให้กับประชาชนชาวไทยมาตลอดนับพันปี ทำให้สังคมไทยสงบร่มเย็น  ผู้คนมีอัธยาศัยเอื้อเฟื้อเป็นสุข จนได้ฉายาว่า “สยามเมืองยิ้ม”

        ขณะที่คณะสงฆ์เถรวาทในประเทศศรีลังกา พม่า  มีการแบ่งนิกายจำนวนมาก  แต่คณะสงฆ์ไทยสามารถรักษาความเป็นเอกภาพท่ามกลางความหลากหลายของความคิดและแนวปฏิบัติได้อย่างน่าชื่นชม  คณะสงฆ์ไทยมีการแบ่งนิกายเป็นครั้งแรก ในสมัยรัชกาลที่ 4 ตั้งแต่เมื่อครั้งพระองค์ทรงผนวชอยู่ ได้มีการตั้งคณะสงฆ์ “ธรรมยุติกนิกาย” ขึ้น คณะสงฆ์ไทยแต่เดิมจึงเรียกว่า “มหานิกาย”

        ในช่วง ร.4-ร.5 ประเทศไทยตกอยู่ภายใต้แรงกดดันของลัทธิล่าอาณานิคมของตะวันตกอย่างมาก จึงต้องรีบสร้างเอกภาพในชาติเพื่อป้องกันไม่ให้อังกฤษและฝรั่งเศสหาเหตุเข้ายึดครอง ในทางบ้านเมืองมีการปฏิรูปการปกครองประเทศ  มีการตั้งกระทรวงมหาดไทย  มณฑล จังหวัด อำเภอ รวมศูนย์อำนาจการปกครองประเทศเข้าส่วนกลาง

ส่วนในทางคณะสงฆ์ก็มีการออกพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ รศ.121 ( พ.ศ.2445 ) ตั้งมหาเถรสมาคม และเจ้าคณะปกครองระดับชั้นต่างๆ รวมอำนาจการปกครองสงฆ์เข้าสู่ส่วนกลาง จัดทำหนังสือตำราเรียน หลักสูตรการศึกษาของคณะสงฆ์จากส่วนกลางทั้งบาลี และนักธรรม  กำหนดรูปแบบพิธีกรรมสงฆ์ บทสวดมนต์ทำวัตรเช้า-เย็นให้เหมือนกันทั้งประเทศ 

        เป็นยุคของการสร้างกรอบมาตรฐาน เพื่อให้คณะสงฆ์ทั้งประเทศมาอยู่ในกรอบเดียวกัน และยังรวมไปถึงอำนาจการตีความพระไตรปิฎกและการกำหนดระเบียบปฏิบัติของสงฆ์และชาวพุทธอยู่ในการควบคุมของคณะผู้ปกครองสงฆ์ส่วนกลาง

        ดังข้อความตอนหนึ่ง อันเป็นพระนิพนธ์ของสมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมพระยาวชิรญาณวโรรสซึ่งได้ทรงนิพนธ์ไว้ในตอนท้ายแห่งแถลงการณ์คณะสงฆ์ก่อนหน้าพระราชบัญญัติลักษณะการปกครองคณะสงฆ์ ร.ศ. ๑๒๑ ความว่า 

        “ภิกษุสงฆ์ แม้มีพระวินัยเป็นกฎหมายสำหรับตัวอยู่ส่วนหนึ่งแล้ว ก็ยังจะต้องอยู่ในใต้อำนาจแห่งกฎหมายฝ่ายอาณาจักรอีกส่วนหนึ่ง ซึ่งตราไว้เฉพาะหรือเพื่อคนทั่วไปและยังควรอนุวัตจารีตของบ้านเมือง  อันไม่ขัดต่อกฎหมายสองประเภทนั้นอีก สรุปความ  ภิกษุสงฆ์มีกฎหมายอันจะพึงฟังอยู่ ๓ ประเภท คือ กฎหมายแผ่นดิน ๑  พระวินัย ๑ จารีต ๑ พระราชบัญญัตินี้  เป็นกฎหมายแผ่นดินจึงสมควรจะรู้จะเข้าใจ และปฏิบัติให้ถูกต้อง”

        ผลที่เกิดขึ้นตามมาที่น่าสังเกตคือ ได้เกิดมีกลุ่มชาวพุทธที่ยึดถือหลักการที่กำหนดมาใหม่ดังกล่าวอย่างเหนียวแน่น กลายเป็น “พุทธติดกรอบ” มีแนวปฏิบัติที่คอยปฏิเสธความคิดความเชื่อและแนวปฏิบัติของกลุ่มสงฆ์อื่นที่มีความเชื่อและแนวปฏิบัติต่างไปจากฝ่ายตน จนบางครั้งถึงกับมีการโจมตีหรือชี้นำโดยวางตนในฐานะผู้สอดส่องและตรวจสอบการตีความพระธรรมวินัย คล้ายกับเป็นตาชั่งหรือบรรทัดฐานของคณะสงฆ์ไทย ตัวอย่างเช่น การตีพิมพ์หนังสือของพระและนักวิชาการหลายท่าน ต่อต้านแนวคำสอนของคณะสงฆ์ที่เคยมีมาแต่ดั้งเดิม 

        ซึ่งนอกจากจะเป็นการเบียดเบียนทำลายภาพลักษณ์กันแล้ว กล่าวได้ว่าอาจนำไปสู่การสร้างความแตกแยกในคณะสงฆ์ไทย ซึ่งเท่ากับได้กำลังสร้างกฏประเภทที่ ๔ ซึ่งอาจเรียกว่า "กรอบ (ความคิดและการปฏิบัติ)" ที่นอกเหนือไปจากกฏ ๓ ข้อข้างต้น ซึ่งชัดเจนว่า เป็นการกระทำที่ไม่สอดคล้องตามหลักการที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติการปกครองคณะสงฆ์ และถือว่าขัดกับเจตนารมย์ของพระเถระผู้บริหารปกครองคณะสงฆ์ในอดีต

แต่กรอบความคิดและแนวปฏิบัติที่คณะผู้ปกครองสงฆ์ส่วนกลางพยายามสร้างขึ้นนี้เป็นของใหม่ เพิ่งมีอายุเพียงร้อยปีเศษม่สามารถลบล้างความหลากหลายทางความคิดและแนวปฏิบัติของคณะสงฆ์ไทยที่มีมานานนับพันปีได้  เราจึงเห็นการตีความคำสอนและแนวปฏิบัติที่หลากหลายของวัดต่างๆในทุกภูมิภาคทั่วประเทศ  แม้คณะผู้ปกครองสงฆ์ส่วนกลางเอง  ในพระอารามหลวงต่างๆ ก็สามารถเห็นการประกอบพิธีพุทธาภิเษกพระเครื่อง การดูหมอ การปลุกเสกเลขยันต์ พิธีบูชาพระราหู การจัดสร้างวัตถุมงคล และพิธีกรรมหลากชนิดได้ทั่วไป 

คณะสงฆ์และชาวพุทธส่วนใหญ่ทั่วประเทศยังคงมีความเชื่อและแนวปฏิบัติที่หลากหลาย เป็นชาวพุทธกระแสหลักของประเทศ

        ปัจจุบันแรงกดดันของลัทธิล่าอาณานิคมผ่านพ้นไปแล้ว แต่ยังมีพระสงฆ์และชาวพุทธส่วนน้อยบางคนติดอยู่ในกรอบที่ถูกสร้างขึ้น  มีวิถีความคิดที่คับแคบว่า ต้องตีความพระไตรปิฎกแบบตนเท่านั้นจึงถูกต้อง  ปฏิเสธความคิดความเชื่อแนวปฏิบัติอื่นโดยสิ้นเชิง  บ้างถึงขนาดหมกมุ่นโจมตีผู้ที่คิดเชื่อไม่เหมือนตน

        สมเด็จพระพุฒาจารย์ ( โต พรหฺมรํสี) วัดระฆังฯ ซึ่งเป็นพระมหาเถระมีชื่อเสียงในยุค ร.4 เคยกล่าวไว้ว่า “บาลีมีนัยยะเป็นร้อย คนความรู้น้อยหาว่าขรัวโตเป็นบ้า”  คำกล่าวนี้สะท้อนแนวคิดของกลุ่มพุทธกระแสหลักได้เป็นอย่างดีว่า  ยอมรับความหลากหลายของการตีความและแนวปฏิบัติ ไม่โจมตีกัน แต่เน้นการสอนประชาชนให้เป็นคนดี ยกระดับศีลธรรมในสังคมให้สูงขึ้น  

        แต่แม้กระนั้น ก็ยังยึดมั่นรักษาพระธรรมวินัย คือพระไตรปิฎก ซึ่งก็มีอยู่แล้วไม่สูญหายไปไหน ไม่มีใครสามารถแก้ไขโดยพลการได้  เพราะถ้าใครไปแก้เพียงเอาไปเทียบกับของเดิมที่มีเผยแพร่นับแสนชุดก็รู้ทันทีไม่มีใครยอมรับ  คนทำมีแต่จะเสียไปเอง จึงมั่นใจได้ว่าไม่มีใครจะมาทำให้พระธรรมวินัยวิปริตผิดเพี้ยนไปได้

         แต่กลุ่มพุทธติดกรอบ จะติดอยู่ในกรอบความคิดที่คับแคบไม่ยอมรับความเห็นต่าง บ้างถึงขนาดมองว่าผู้ที่คิดเชื่อไม่เหมือนตนเป็นภัยต่อความมั่นคงของประเทศ จ้องโจมตีผู้ที่คิดเชื่อไม่เหมือนตน ละเลยการเผยแผ่ธรมะสู่ประชาชน 

        ในปัจจุบันนี้ เหตุการณ์ได้ลามไปถึงระดับที่มีพระภิกษุเพียงไม่กี่รูป  โจมตีคณะสงฆ์ทั่วประเทศตลอดจนถึงมหาเถรสมาคมและผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราชว่ามีแนวปฏิบัติไม่ถูกต้อง ตนต่างหากคือผู้ยึดถือความถูกต้อง

        แต่ครั้นไปดูวัตรปฏิบัติของพระภิกษุผู้นำขบวนของกลุ่มพุทธติดกรอบนี้ กลับพบว่าหาได้ดำเนินตามพระธรรมวินัยอย่างถูกต้องไม่ เช่น มีการตั้งโรงเจในวัด มีการสร้างพระเครื่องโดยกรีดเลือดของตนผสมเข้าไปด้วยเพื่อเพิ่มความขลัง มีการประกอบพิธีโดยมีรูปบูชาทั้งเจ้าพ่อกวนอู เจ้าแม่กวนอิม พระพิฆเนศ ฯลฯ นับเป็นความย้อนแย้งที่ประหลาดพิสดาร

        น่าสนใจติดตามว่า พระพุทธศาสนาในประเทศไทยจะก้าวพ้นความขัดแย้งระหว่างความหลากหลายของกลุ่มพุทธกระแสหลัก และความยึดติดคับแคบของกลุ่มพุทธติดกรอบไปได้หรือไม่ เราจะรักษาเอกภาพท่ามกลางความหลากหลายเหมือนที่บรรพบุรุษไทยเคยทำมาได้หรือไม่ 


        หากชาวพุทธส่วนน้อยก้าวพ้นจากความยึดติดในกรอบที่ถูกสร้างขึ้น ยอมรับความเห็นต่างและแปรเปลี่ยนพลังของตนจากการมุ่งใช้ทำลายล้างผู้เห็นต่าง มาเป็นพลังสร้างสรรค์ มุ่งเผยแผ่ธรรมะอย่างที่ตนเชื่อสู่ประชาชน ความสงบร่มเย็นความสมัครสมานสามัคคีก็จะกลับมาสู่สังคมไทย “สยามเมืองยิ้ม” ย่อมจะกลับคืนมา


ศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ https://www.dmc.tv
http://www.dhammakaya.net/

ถาม-ตอบ กรณีธรรมกาย ตอน การปะทะกันของ "กลุ่มคนพุทธ" ถาม-ตอบ กรณีธรรมกาย ตอน การปะทะกันของ "กลุ่มคนพุทธ" Reviewed by Unknown on 02:27 Rating: 5

ไม่มีความคิดเห็น:

ขับเคลื่อนโดย Blogger.